ปัญหาการเรียงตัวของฟัน
หลาย ๆ คนอาจมีข้อสงสัยว่าทำไมการเรียงตัวของฟันของแต่ละคนถึงแตกต่างกันหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง สาเหตุของความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงแบ่งออกได้ 3 ปัจจัยคือ
กรรมพันธุ์: การเรียงตัวของฟันแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนด ซึ่งมีผลต่อขนาด รูปร่างและความสัมพันธ์ระหว่างขากรรไกร ขนาดของฟันใหญ่หรือเล็กในแต่ละบุคคล ฟันยื่น ฟันซ้อนเก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดครับ
จำนวนซี่ฟันที่หายไปหรือเกิน: จำนวนฟันที่มี หากขาดหายไป ทั้งจากการถอนฟันหรืออุบัติเหตุ ก็อาจทำให้ฟันที่เหลืออยู่ขาดสมดุล เกิดล้มหรือเอียงได้ครับ อีกกรณีคือมีฟันเกิน จนเกิดการเบียดอยู่ในช่องปากทำให้เรียงตัวไม่สวยงาม
นิสัยบางอย่างที่มีผลต่อฟัน: เช่น การดูดนิ้ว กัดเล็บ การกลืนโดยเอาลิ้นดุนฟัน การหายใจทางปาก อาจทำให้ ฟันห่าง ฟันยื่น หรือการถอนฟันน้ำนมก่อนเวลาที่สมควร ก็มีผลต่อการเรียงตัวของฟันครับ
จัดฟันช่วยเรื่องอะไรบ้าง?
1. การจัดฟันช่วยให้การเรียงฟันเป็นระเบียบสวยงามมากยิ่งขึ้นครับ ใครที่สงสัยว่าปัญหาของตนเองแก้ไขด้วยการจัดฟันดีไหม ต้องให้ทันตแพทย์ช่วยประเมินปัญหาครับ เช่น
มีปัญหา ฟันเก (Over Crowding)
ภาวะสบลึก (Deep overbite)
ภาวะสบเปิดหรือการสบฟันหน้าไม่สนิท (Open bite)
ขากรรไกรบนยื่น (Overjet)
ขากรรไกรล่างยื่น(Under-bite)
การสบฟันแบบไขว้ (Cross-bite Occlusion)
การจัดฟันสามารถปรับแนวฟันให้เรียงตัวเป็นระเบียบ และช่วยรักษาสุขภาพช่องปากดีขึ้น ลดปัญหาฟันผุได้ เพราะฟันที่เรียงตัวไม่เป็นระเบียบนี้ เป็นที่มาของเศษอาหาร ที่ไปติดอยู่ตามซอกหลืบของฟัน สาเหตุหลักของฟันผุครับ
2. ช่วยให้การดูแลรักษาฟันเป็นเรื่องง่ายขึ้น เมื่อฟันเรียงตัวดี อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ก็สามารถทำความสะอาดได้ง่ายขึ้นครับ ช่วยลดโอกาสการสูญเสียฟันในอนาคต ทำให้ฟันอยู่กับเราได้ยาวนาน
3. ช่วยปรับรูปหน้าให้เข้าที่ การจัดฟันทำให้ใบหน้าเข้าที่มากขึ้น แก้ปัญหาการฟันสบ ฟันล่างยื่น หรือฟันเหยินได้ ส่งผลให้เจ้าของใบหน้ามีความมั่นใจ กล้าพูด กล้ายิ้มมากขึ้นครับ
จัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร
การจัดฟัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฟันอย่างเดียว สาเหตุหนึ่งมากจากความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรร่วมด้วย เช่น ขากรรไกร ล่าง-บน ยื่น สั้น เบี้ยว ผิดรูป ทำให้การจัดฟันอย่างเดียวไม่สามารถช่วยได้พอในการแก้ปัญหา อาจจะต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วยกับการจัดฟัน
ขั้นตอนการจัดฟัน
ขั้นตอนการจัดฟันเบื้องต้นมีวิธีการคล้าย ๆ กันครับ แต่อาจมีข้อแตกต่างในแต่ละประเภท คือ การจัดฟันด้วยเครื่องมือเเบบติดเเน่น และการจัดฟันแบบไม่ติดเครื่องมือ แต่การเตรียมตัวก่อนจัดฟันคล้ายกัน แบ่งเป็น 8 ขั้นตอนดังนี้
1. ปรึกษาทันตแพทย์ เมื่อตัดสินใจจัดฟันครั้งแรก ต้องปรึกษาทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟันโดยตรงครับ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยปัญหาของแต่บุคคล ตรวจรูปหน้า โครงสร้างกระดูกขากรรไกรและฟัน พร้อมทั้งซักประวัติ เช่น มีโรคประจำ ประวัติการแพ้ยา หรือยาที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันว่ามีหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้ ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดฟันในแต่ละวิธีการให้ทราบ เพื่อให้คนไข้ตัดสินใจว่าแบบไหนตรงความต้องการมากที่สุดครับ
2. วางแผนการจัดฟัน เมื่อคนไข้เลือกวิธีการจัดฟันที่เหมาะกับตนเองได้เเล้ว ทันตแพทย์จะแจ้งแผนการรักษาคร่าว ๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา และทำการพิมพ์ปาก สร้างแบบจำลองฟัน
3. ถ่ายภาพ x-ray คนไข้ต้องทำการพิมพ์ฟัน และ x-ray ได้แก่ Panoramic, Lateral cephalometric หรือ PA cephalometric (ถ้าจำเป็น) เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวินิจฉัย ประเมินฟัน กระดูกขากรรไกรบนและล่าง ดูการสบของฟัน และออกแบบการจัดฟันเพื่อให้เข้ารูปสวยงาม และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. เคลียร์ช่องปาก การเคลียร์ช่องปาก คือการเตรียมให้ช่องปากของเราพร้อมที่จะจัดฟัน โดยทันตแพทย์ต้องเช็คสุขภาพในช่องปากก่อนเริ่มการจัดฟัน ได้แก่ การอุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน หรือผ่าฟันคุด เป็นต้น เพราะถ้าได้ติดเครื่องมือจัดฟันไปแล้ว แล้วต้องทำการอุดฟัน หรือทำการรักษาฟันใด ๆ จะทำให้การรักษานั้นยุ่งยาก และช่วยให้การจัดฟันประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานในบางคนครับ หากมีปัญหาฟันผุ หรือเหงือกอักเสบมาก ๆ
5. นัดติดเครื่องมือ ขั้นตอนนี้จะแยกออกเป็น 2 รูปแบบ
จัดฟันโดยติดเครื่องมือ เมื่อทันตแพทย์ทำการติดเครื่องมือแล้ว จะมีการนัดหมายเพื่อปรับเครื่องมือทุก ๆ 1-2 เดือน ตามประเภทเครื่องมือจัดฟัน ซึ่งในช่วงแรกอาจจะเจ็บบ้างเล็กน้อยในช่วงนี้ครับ
จัดฟันแบบไม่ติดเครื่องมือ หรือจัดฟันใส ทันตแพทย์จะนัดใส่เครื่องมือจัดฟัน พร้อมแนะนำวิธีการดูแลระหว่างใส่ เพราะการจัดฟันวิธีนี้สามารถถอดออกได้ระหว่างจัดฟัน โดยเครื่องมือถูกออกแบบมาเฉพาะบุคคล เพื่อจัดระเบียบกล้ามเนื้อ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของขากรรไกร โดยเครื่องมือจัดฟันจะส่งแรงกดไปบนฟันอย่างนุ่มนวลเพื่อให้ฟันเคลื่อนที่บนกระดูกขากรรไกร จากนั้นทันตแพทย์จะนัดเปลี่ยนชุดเครื่องมือตามแผนที่วางไว้ครับ ในการนัดหมายแต่ละครั้ง คนไข้ควรจะต้องมาให้ตรงตามนัด เพื่อให้แผนการรักษาไม่คลาดเคลื่อน
6. การดูแลช่องปากและฟันหลังจัดฟัน ในระหว่างจัดฟันจำเป็นต้องการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอย่างดีครับ เช่น แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร และใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี และสม่ำเสมอ เข้าพบทันตแพทย์ตรวจเช็คช่องปาก ขูดหินปูน ทุก 3-6 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดเหงือกอับเสบระหว่างการจัดฟัน
7. นัดถอดเครื่องมือ เมื่อแผนการจัดฟันเป็นไปตามที่วางไว้ ทันตแพทย์ก็จะนัดถอดเครื่องมือจัดฟัน และจะให้ใส่รีเทนเนอร์ครับ แนะนำคนไข้จะต้องใส่ต่อเนื่องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฟันคงอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องสวยงามตลอดไป
8. ติดตามผล ทันตแพทย์จะนัดติดตามการใส่รีเทนเนอร์ทุก ๆ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และทุก ๆ 1 ปี
เมื่อผ่านขั้นตอนการจัดฟัน คุณหมอขอแนะนำให้คนไข้ศึกษาวิธีการดูแลหลังจัดฟัน
จัดฟันช่วยเรื่องอะไรบ้าง? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.idolsmiledental.com/