ปัญหาเสียงดังในโรงงานเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมจริงหรือไม่ ทำไมจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเสียงดัง คำถามเหล่านี้ อาจเป็นคำถามที่ผู้ประกอบการที่มีธุรกิจอยู่ในวงการอุตสาหกรรมเกิดความสงสัยว่าปัญหาดังกล่าวคุ้มค่าหรือไม่ที่ต้องลงทุนใช้งบประมาณและทรัพยากรอันมีค่าของบริษัทไปเพื่อแก้ปัญหา คำตอบของปัญหาดังกล่าวอาจสรุปได้ ดังประเด็นต่อไปนี้
1. ผิดกฎและประกาศของกระทรวง หลายท่านอาจสงสัยว่าเพียงแค่ปัญหาเสียงดังถึงกับผิดกฎหมายเลยหรืออย่างไร คำตอบคือ ใช่ โดยมีกฎข้อบังคับและประกาศของกระทรวงแยกตามกระทรวงหัวข้อที่เกี่ยวกับปัญหาเสียงดังในโรงงาน มีดังนี้
กระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม
- ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ค่าระดับเสียงรบกวน
- ประกาศคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เรื่อง วิธีการตรวจวัดระดับเสียงพื้นฐาน ระดับเสียงขณะไม่มีการรบกวน การตรวจวัดและคำนวณระดับเสียงขณะมีการรบกวน การคำนวณค่าระดับการรบกวนและแบบบันทึกการตรวจวัดเสียงรบกวน (พ.ศ. 2550)
- ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับที่15 (พ.ศ. 2540) เรื่อง การกำหนดมาตรฐาน
ระดับเสียงโดยทั่วไป
- ประกาศกรมควบคุมมลพิษเรื่อง การคำนวณค่าระดับเสียง (พ.ศ. 2540)
กระทรวงอุตสาหกรรม
- กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง กำหนดค่าระดับเสียงการรบกวนและระดับเสียงที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. 2548
- ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องวิธีการตรวจวัดระดับเสียงการรบกวนระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชม.และ ระดับเสียงสูงสุดที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. 2553
กระทรวงสาธารณสุข
- กฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2560
กระทรวงแรงงาน
- กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน พ.ศ. 2561 “นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน (Time Weighted Average-TWA) มิให้เกินมาตรฐานตามที่กำหนด โดยหน่วยวัดระดับเสียงดังที่ใช้ในประกาศนี้คือหน่วยเป็นเดซิเบลเอ”
จะเห็นได้ว่ามีกฎข้อบังคับและประกาศกระทรวงจำนวนหลายข้อเมื่อรวมทุกกระทรวง ซึ่งเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึง เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่ผิดข้อกฎหมาย
2. ผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้าง จากเอกสารรายงานของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในยุโรป ในปี ค.ศ. 2010 (European Environment Agency (EAA), 2010) ได้นำเสนอผลกระทบของมลพิษทางเสียงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีไว้ดังนี้
- เกิดความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์หรือรู้สึกไม่สบาย เช่น รู้สึกถูกรบกวน เกิดความรำคาญ
- เกิดปัญหาต่อการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ หลับยาก วงจรการนอนหลับเปลี่ยนแปลง
- เสียงดังเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคเครียด ความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับระดับคลอเรสเตอรอล ความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
- อาจส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรงในระยะยาว มีโอกาสเพิ่มอัตราการเสียชีวิต
3. ประสิทธิภาพและผลผลิตในการทำงานลดลง สืบเนื่องมาจากผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างดังกล่าว ย่อมส่งผลต่อผลผลิตของงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่มักจะพบได้แก่ ความเครียดของพนักงาน การขาดงาน เจ็บป่วยบ่อย ขาดสมาธิในการจดจ่ออยู่กับงาน ประสิทธิภาพของการผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นต้น
4. อาจถูกร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเสียงรบกวนหรือผู้อาศัยในชุมชนใกล้เคียงกับโรงงาน เนื่องจากมีข้อกฎหมายและกฎกระทรวงบังคับ โรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงดังเกินค่ามาตรฐานกำหนด อาจถูกร้องเรียน และหากเพิกเฉยต่อปัญหา ไม่ยินยอมแก้ไขหรือหาแนวทางในการควบคุมเสียง ปัญหาอาจบานปลายไปจนถึงขั้นถูกปรับ ถูกฟ้องร้อง หรือในขั้นรุนแรงที่สุดอาจถูกบังคับให้ระงับการดำเนินกิจการจนกว่าจะแก้ปัญหาเสียงดังแล้วเสร็จ
หลังจากที่ได้รับทราบถึงข้อคำนึงเกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากไม่เริ่มดำเนินการโครงการควบคุมเสียงแล้ว จะพบว่าแต่ละปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่และไม่สามารถละเลยได้แทบทั้งสิ้น ทั้งปัญหาด้านกฎหมาย ด้านสุขภาพ ด้านประสิทธิภาพและผลผลิตตลอดจนปัญหาการถูกร้องเรียนจากชุมชน ดังนั้นในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทำโครงการควบคุมเสียง ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะละเลยปัญหาเสียงดังในโรงงานจนบานปลายจนเกินระดับความเสียหายที่จะสามารถควบคุมได้
ฉนวนกันเสียง ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมเสียงดังในโรงงาน อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://noisecontrol365.com/